ประเด็นร้อน

เทอร์มินอลแปลกประหลาด ความจริงที่ประชาชนควรรู้

โดย ACT โพสเมื่อ Oct 05,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์กวนน้ำให้ใส โดย : สารส้ม


มีท่านผู้อ่านส่งข้อเขียนของคุณไพโรจน์ จีรบุณย์ สถาปนิกเพื่อสังคม เรื่อง “ข้อเท็จจริง เพื่อประชาชน... กรณี Terminal Shit สุวรรณภูมิ” เนื้อหาแจกแจงข้อมูล ความเห็น ตรงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านอย่างกว้างขวางในขณะนี้


เห็นว่ามีเนื้อหาเฉียบคม ตรงเข้าเข้าประเด็น จากคนที่เป็นสถาปนิกมืออาชีพ และไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวทับซ้อนในกรณีนี้ แต่เนื่องจากมีความยาวค่อนข้างมาก จึงขออนุญาตเรียบเรียงตัดทอนลงไปบ้าง เพื่อเผยแพร่ต่อ ณ ที่นี้


1.การวางผังสนามบิน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องให้ความสำคัญกับเครื่องบินเป็นหลัก ทั้งในแง่ความปลอดภัยสูงสุด ตามกฎขององค์กรการบินต่างๆ และความสะดวกของการใช้พื้นที่ต่างๆในสนามบินของเครื่องบิน และเพื่อให้เครื่องบินสามารถใช้งานสนามบินนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การวางผังหลักของสนามบินจึงต้องมีการวางแกนหลักที่ชัดเจน ที่เหมาะสม ตามภูมิประเทศ มาสเตอร์แปลนของสนามบินสุวรรณภูมิได้ถูกออกแบบมาอย่างดีตามหลักการนี้ เป็นระบบ 2 Terminals 4 runways  นับว่า เป็นผังที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูง ที่ยังใช้กันอยู่ทั่วโลก


2.ถ้ามองในภาพใหญ่ จะเห็นว่าระบบการเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิได้ถูกแบ่งใช้กับถนนหลัก 2 ด้าน คือ ด้านลาดกระบัง เป็นถนนมอเตอร์เวย์, ด้านบางนาตราด เป็นถนนบางนา-ตราด และทางด่วนบูรพาวิถี เพื่อใช้ถนนทั้งสองสายนี้ รองรับการเข้าออก Terminal 1 กับ Terminal 2 (ตามมาสเตอร์แปลนเดิมจะอยู่ทางทิศใต้) เพื่อไม่ให้เกิดการจราจรคับคั่ง ในถนนเส้นใดเส้นหนึ่ง จนเกิดปัญหา


3.สนามบินสุวรรณภูมิ มีโอกาสเป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลกได้ไม่ยากขอเพียงแค่ผู้รับผิดชอบดำเนินการทุกอย่าง ด้วยความเคารพในมาสเตอร์แปลนนี้ ไปตามเฟส ตามระยะเวลาที่เหมาะสม ถ้าจะมีการปรับเปลี่ยน เฉพาะในรายละเอียดปลีกย่อย ไปตามเทคโนโลยี หรือตามการเปลี่ยนแปลงของเครื่องบินแบบต่างๆ หรือตามพฤติกรรม ความต้องการใช้พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้โดยสาร หรือการเปลี่บนแปลงของอุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ ที่ล้ำยุคขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ พึงทำได้ ตามความจำเป็น แต่คงไม่เหมาะสม หากมีการเปลี่ยนมาสเตอร์แปลน ในจุดที่ไม่มีความจำเป็นใดๆเลย


โดยเฉพาะการที่อยู่ๆ ก็นึกอยากสร้างอาคารผู้โดยสาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสนามบิน ที่ต้องมีระบบสนับสนุน และการเข้าถึงที่ต้องเชื่อมต่อกันอย่างดี จากทั้งผู้คน สิ่งของ ปริมาณมหาศาล และเครื่องบิน ที่มีข้อจำกัดมากมาย ในตำแหน่งที่ “ไม่ได้ถูกวางแผนเตรียมการเอาไว้ในมาสเตอร์แปลน”


การกระทำเช่นนี้ จะเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายตามมา อย่างมาก อาจถึงกับเป็นหายนะของสนามบินเลย ยังไม่นับรวมว่า การเอาอาคารผู้โดยสารหลัก ที่อยากทำใหม่ดื้อๆ มาวางในตำแหน่งที่อยู่นอกแกน ที่จะทำให้สมดุลต่างๆ ที่ถูกเตรียมเอาไว้ของสนามบิน เสียไปทั้งหมด


4.อาคารผู้โดยสาร Terminal 1 นั้น เดิมถูกออกแบบไว้ 11 ช่วงเสาแต่สร้างจริงเพียง 7 ช่วงเสา พื้นที่ประมาณ 560,000 ตารางเมตร เพื่อประหยัดงบประมาณ ในตอนเริ่มต้น โดยมีประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคน สำหรับ 124 Gates (หลายรูปแบบ รวมกัน) โดยมีที่ว่างด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ของ Terminal 1 เหลืออยู่ฝั่งละ 2 ช่วงเสา และได้วางแผนต่อขยาย เพิ่มพื้นที่ ให้กับ Terminal 1 ได้อีก รวมประมาณ 150,000 - 200,000 ตารางเมตร


ได้มีการออกแบบด้านทิศตะวันออก จนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง ถ้าต่อขยายในส่วนนี้ จะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ได้อีก 15-20 ล้านคน  พอที่จะใช้งานไป จนกว่าจะสร้าง Terminal 2 ตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ ในเฟสต่อไป (ที่อยู่ทางทิศใต้ของสนามบิน)


5. ทอท. บอกว่า พื้นที่ด้านซ้ายและด้านขวา (ทิศตะวันออกและตะวันตก) ของ Terminal 1 นั้น ทำการก่อสร้างอาคารเพื่อขยายพื้นที่ได้ยาก แค่รถตักดินขนดินออกไปก็ลำบากแล้ว การก่อสร้างขยายอาคารจะทำให้ต้องปิดพื้นที่ Terminal 1 เดิม ไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์


ตามความเป็นจริง สถาปนิกและวิศวกรทุกคนก็รู้ว่า ทุกวันนี้เราสามารถสร้างต่อขยายอาคารที่มีพื้นที่ว่างโดยรอบกว้างขวางเช่นนั้น โดยอาคารที่เปิดใช้งานอยู่ แทบจะไม่รู้สึกอะไรเลย ทั้งงานโครงสร้างและงานระบบประกอบอาคาร ก็สามารถทำไปจนแล้วเสร็จ จึงมาเชื่อมกับอาคารเดิม การปิดพื้นที่อาคารเดิมก็จะมีเพียงวันที่ต้องเชื่อมผนังอาคารเดิม เข้ากับอาคารต่อขยาย ไม่ว่าจะรื้อผนังเดิมออกทั้งหมดให้โล่งถึงกัน หรือจะเจาะหลายๆช่อง เพียงให้ใช้งาน ต่อเชื่อมกันได้ ทั้งนี้ การปิดพื้นที่แค่บางส่วนเพียงแคบๆ ของแนวผนังอาคารเดิม น่าจะใช้เวลาไม่นาน ไม่กี่วัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบ


การก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยาย ทั้ง East Wing และ West Wing ของ Terminal 1 ที่ปัจจุบันเป็นสวน อยู่ใต้หลังคาส่วนหนึ่ง อยู่ภายนอกส่วนหนึ่งนั้น ในโลกปัจจุบันนี้ เอาแค่ผู้รับเหมาแค่ระดับกลางๆ เขาก็สามารถก่อสร้างอาคารนั้นจนเสร็จสมบูรณ์ ทั้งงานโครงสร้าง สถาปัตยกรรม และงานระบบ จนแล้วเสร็จเสียก่อน เมื่อพร้อมที่จะต่อเชื่อมกับอาคารเดิม เขาจึงจะปิดพื้นที่บางส่วนเล็กน้อย เท่าที่จำเป็นในการทำงาน  น่าจะใช้ระยะห่างจากผนังกระจกเดิมไม่เกิน 5 - 6 เมตร เพื่อการเชื่อมต่อนั้น ในระยะเวลาไม่กี่วัน หรืออย่างมากก็หนึ่งเดือน โดยที่ระหว่างก่อสร้าง ยังสามารถควบคุมไม่ให้มีผลกระทบ กับการใช้งานทั้งสนามบิน ทั้งตัวอาคารผู้โดยสารเดิม ได้อย่างง่ายดาย


6. ข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ปัจจุบัน มีการสร้างอาคาร ที่เรียกว่า Midfield Satellite ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะเสร็จภายในปี 2562 รองรับผู้โดยสารเพิ่ม 20 ล้านคน โดยอาศัยการเชื่อมทางอุโมงใต้ดิน ระหว่าง Terminal 1 กับอาคารนี้ อันนี้ยังอยู่ในมาสเตอร์แปลน


แต่อาคาร Terminal 2 ตามมาสเตอร์แปลนเดิมที่จะต้องอยู่ฝั่งทิศใต้ ไม่ดำเนินการ แต่จะมาสร้าง อาคาร Terminal Shit ที่เป็นสิ่งแปลกปลอมแทน


โดยอาคาร Terminal แปลกปลอมอันนี้ ขนาด 380,000 ตารางเมตร ที่ประกวดแบบไป เมื่อสร้างเสร็จ จะมีหลุมจอดบริเวณนั้น เพียง 14 หลุมจอด ซึ่งไม่ใช่เป็นหลุมจอดที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นหลุมจอดที่มีอยู่แล้ว แต่ ทอท. บอกว่า 

อาคารนี้จะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มปีละ 30 ล้านคน จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะในเมื่อ อาคาร Terminal 1 ที่รองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน ยังต้องใช้หลุมจอด ทุกประเภทถึง 124 หลุมจอด, อาคารมิดฟิลด์ที่กำลังก่อสร้างอยู่ มี 28 หลุมจอด ก็ยังรองรับคนได้เพียง 20 ล้านคน


7.ทอท. บอกว่า ที่ต้องเร่งทำเทอร์มินอลแปลกปลอม เพราะจะทำได้เร็วที่สุด ใช้งบประมาณน้อยที่สุด


ตามความเป็นจริง งบประมาณ 42,000 ล้านบาท ในเบื้องต้น เป็นเพียงงบของตัวอาคารและระบบประกอบอาคาร ยังไม่นับรวมงบในส่วนสนับสนุนต่างๆ ที่จะเชื่อมไปยัง Terminal 1 หรืออาคารมิดฟิลด์ ที่กำลังจะเสร็จในปีหน้า 

คาดว่าน่าจะอีกหลายหมื่นล้านหรือไม่


ตรงกันข้าม ถ้าต่อเติมอาคาร Terminal 1 ฝั่งทิศตะวันตกและตะวันออก (ที่ได้ดำเนินการออกแบบไปแล้ว) จะได้พื้นที่อีกรวม 150,000 - 200,000 ตารางเมตร รองรับคนเพิ่มได้ 15 - 20 ล้านคน ด้วยราคาค่าก่อสร้าง (คิดเป็นราคาต่อตารางเมตร) ของตัวอาคารส่วนต่อขยาย ที่ถูกกว่าถึงครึ่งหนึ่ง ของอาคารแปลกปลอม โดยไม่ต้องไปเสียงบประมาณในการแก้ปัญหา หรือในการสร้างระบบสนับสนุนอาคารใดๆเพิ่มอีกมากด้วย เพราะอยู่ในมาสเตอร์แปลนอยู่แล้ว


รวมแล้ว ถ้าทำตามมาสเตอร์แปลน เฉพาะสองส่วนนี้ น่าจะรองรับคนได้เพิ่มขึ้น 20-30 ล้านคน คุ้มค่ามากกว่าการสร้างอาคาร Terminal แปลกประหลาด โดยยุ่งยากน้อยกว่า เสียงบประมาณน้อยกว่า แต่ได้ประสิทธิภาพ สมบูรณ์ สมดุล ตามมาสเตอร์แปลน ที่วางเอาไว้


8.น่าสงสัยว่า ถ้าอาคารเทอร์มินอลแปลกประหลาดนี้ได้ถูกสร้างขึ้น แล้วเปิดใช้งานจริง ก็จะเสมือนมีอาคารผู้โดยสารขนาดยักษ์ 2 อาคาร ที่ควรต้องมีinfrastructure ของตัวเอง แต่กลับมาใช้ร่วมกัน ถนนมอเตอร์เวย์จะหายนะขนาดไหน ถนนภายในสุวรรณภูมิเองทางฝั่งทิศเหนือ ทั้งตัวสะพานลอย และถนนทางราบ คงจะติดเหมือนสาทร


ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูล ข้อสมุมติฐานและคำถาม ที่ทาง ทอท. น่าจะต้องออกมารับผิดชอบเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าสิ่งที่ผู้บริหาร และผู้รับผิดชอบ ได้ตัดสินใจไป จะไม่เป็นเช่นนี้ และหากเสียหายตามนี้ พวกตนพร้อมจะรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายทั้งหมด ประชาชนผู้เสียภาษี ก็คงจะสบายใจขึ้น

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw